เมนู

พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [2. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ 2 พระบัญญัติ
พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสว่า “ถ้านางบวชอยู่ในสำนักภิกษุณี ใคร ๆ ก็ทำ
อะไรไม่ได้ พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ขอให้นางประพฤติพรหมจรรย์
เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด”
ครั้งนั้น เจ้าลิจฉวีนั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุณีจึง
บวชให้สตรีผู้เป็นโจรเล่า”
ภิกษุณีทั้งหลายได้ยินเจ้าลิจฉวีนั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุณี
ผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนแม่เจ้าถุลลนันทาจึง
บวชให้สตรีผู้เป็นโจรเล่า” ครั้นแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นได้นำเรื่องนี้ไปบอกภิกษุให้ทราบ
พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุณีถุลลนันทาบวชให้สตรี
ผู้เป็นโจร จริงหรือ” พวกภิกษุทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาค
พุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนภิกษุณีถุลลนันทาจึงบวชให้สตรี
ผู้เป็นโจรเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส
หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุณี
ทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ
[683] ก็ภิกษุณีใดรู้อยู่ไม่บอกพระราชา สงฆ์ คณะ สมาคม หรือ
กลุ่มชนให้ทราบ บวชให้สตรีผู้เป็นโจรซึ่งเป็นที่รู้กันว่าต้องโทษประหาร เว้น
ไว้แต่สตรีที่สมควร แม้ภิกษุณีนี้ก็ต้องธรรมคือสังฆาทิเสสที่ชื่อว่าปฐมาปัตติกะ
นิสสารณียะ
เรื่องชายาเจ้าลิจฉวีกับภิกษุณีถุลลนันทา จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :31 }


พระวินัยปิฎก ภิกขุนีวิภังค์ [2. สังฆาทิเลสกัณฑ์] สังฆาทิเลสสิกขาบทที่ 2 สิกขาบทวิภังค์
สิกขาบทวิภังค์
[684] คำว่า ก็ ... ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็...ใด
คำว่า ภิกษุณี มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุณี เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระ
ผู้มีพระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุณี ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า รู้อยู่ คือ ภิกษุณีนั้นรู้เอง คนอื่นบอกให้เธอรู้ หรือสตรีผู้เป็นโจร
นั้นบอก
ที่ชื่อว่า สตรีผู้เป็นโจร คือ สตรีผู้ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ มีราคา 5
มาสกหรือมากกว่า 5 มาสก โดยส่วนแห่งจิตคิดจะลัก นี้ชื่อว่าสตรีผู้เป็นโจร
ที่ชื่อว่า ต้องโทษประหาร หมายถึง ผู้ทำความผิดโทษถึงประหารชีวิต
ที่ชื่อว่า เป็นที่รู้กัน หมายถึง ผู้คนเหล่าอื่นก็รู้ว่าผู้นี้ต้องโทษประหารชีวิต
คำว่า ไม่บอก...ให้ทราบ คือ ไม่บอก
ที่ชื่อว่า พระราชา ความว่า พระราชาทรงปกครองในที่ใด ต้องขอพระบรม
ราชานุญาตในถิ่นนั้น
ที่ชื่อว่า สงฆ์ พระผู้มีพระภาคตรัสถึงภิกษุณีสงฆ์ ต้องขอนุญาตภิกษุณีสงฆ์
ที่ชื่อว่า คณะ ความว่า คณะปกครองในถิ่นใด ต้องบอกคณะในถิ่นนั้น
ที่ชื่อว่า สมาคม ความว่า สมาคมปกครองในถิ่นใด ต้องบอกสมาคมในถิ่นนั้น
ที่ชื่อว่า กลุ่มชน ความว่า กลุ่มชนปกครองในถิ่นใด ต้องบอกกลุ่มชนในถิ่นนั้น
คำว่า เว้นไว้แต่สตรีที่สมควร อธิบายว่า ยกเว้นแต่สตรีผู้สมควร
ที่ชื่อว่า สตรีที่สมควร มี 2 ประเภท คือ (1) ผู้ที่บวชในสำนักเดียรถีย์
(2) ผู้ที่บวชในสำนักภิกษุณีอื่น ภิกษุณีคิดว่า “เราจักบวชให้เว้นไว้แต่ผู้ที่ผ่านการ
บวชมาแล้ว” แล้วจึงแสวงหาคณะ กรรมวาจาจารย์ บาตรหรือจีวร หรือสมมติสีมา
ต้องอาบัติทุกกฏ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 3 หน้า :32 }